เปลี่ยนสลับ ทับซ้อน ซ่อนร่าง ให้เป็นงานสร้างสรรค์

ศ.พรรัตน์ ดำรุง
ภาคีสมาชิก

บทคัดย่อ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถานำในการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง เปลี่ยนสลับ ทับซ้อน ซ่อนร่างในประเพณี และการละเล่นสวมหน้ากากในประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ – ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ โดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ในฐานะของนักการละคร มุมมองที่จะนำเสนอเรื่องราว พลังพิเศษของหน้ากาก มีความแตกต่างไปจากข้อมูลทางวัฒนธรรมในแบบดั้งเดิม ในชุมชนของนักการละคร ความพิเศษของหน้ากากเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยฝึกฝนทักษะของนักแสดงให้สามารถเปลี่ยนบทบาท ความรู้สึกนึกคิด อายุ เพศสภาพ จากหน้ากาก ข้าพเจ้านำเสนอจากมุมมองส่วนตัว (personal) เนื่องจากมีโอกาสได้ศึกษา ฝึกอบรมการใช้หน้ากากสมัยใหม่ในแนวของ Jacques Lecoq ครูด้านการแสดงที่ใช้หน้ากาก เป็นเครื่องมือในการฝึก อบรมนักแสดงละครเวที ทั้งที่เป็นละครพูด ละครใบ้ และ ละครที่มีการสื่อสารผ่านร่างกายและการเคลื่อนไหว ทำให้การแสดงมีมิติที่แตกต่าง
บทความนี้ต้องการสื่อสารให้เห็นว่า ในสังคมปัจจุบันหน้ากากในแบบเก่า และแบบใหม่ ล้วนมีพื้นที่การรับรู้ที่กว้างขึ้น เข้าถึงได้ง่าย และเป็นวัฒนธรรมมวลชน ผู้ที่ทำงานในสายนี้ควรจะมั่นคงและภาคภูมิในการ สืบทอด ความพิเศษ ความเฉพาะ ที่สัมพันธ์กับรากเหง้า ศรัทธาของชาติพันธุ์จากชุมชนดั้งเดิม และ ศึกษา ตีความ สร้างสรรค์คุณค่าใหม่ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิม สำหรับคนปัจจุบันที่มีส่วนร่วมรับรู้ประสบการณ์ ผ่านเทศกาล และพื้นที่การศึกษา และพิพิธภัณฑ์

คำสำคัญ การละเล่น/พิธีกรรมสวมหน้ากาก, วัฒนธรรมหน้ากาก, งานสร้างสรรค์

Academy of Arts

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Arts →